วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

การรับมือกับบาดแผลทางอารมณ์

ในชีวิตของคนธรรมดาทั่วไปอาจมีมากกว่าหนึ่งครั้งที่เราต้องเจอกับสิ่งที่เรียกว่า บาดแผลทางอารมณ์ หรือ ประสบการณ์ที่เลวร้ายจากอดีต ที่สร้างความรู้สึกเจ็บปวดให้เราอยู่เสมอเมื่อนึกถึงรสชาติของความเจ็บปวดนั้นก็มีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางคนอาจจะทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจเมื่อนึกถึง บางคนอาจจะฝันร้ายจนสะดุ้งตื่นเป็นประจำ หรือบางคนอาจจะร้องให้แม้เหตุการณ์นั้นจะผ่านมาหลายปี
       เป็นเรื่องปกติและสามัญมากที่ชีวิตของมนุษย์ ที่จะต้องประสบกับเหตุการณ์ในด้านลบที่เราไม่คาดฝันบางเหตุการณ์อาจจะไม่รุนแรง ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปไม่เก็บมาคิดมากมาย แต่บางเหตุการณ์เราอาจจะไม่มีวันลืมและรู้สึกกับมันไปนานแสนนาน ทั้งนี้ก็เพราะเนื่องจาก
                  1.     เป็นเหตุการณ์ที่เราไม่คาดฝันว่าจะเกิดขึ้นกับเรา
                  2.     เป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงซึ่งกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในชีวิต หรือการรู้สึกมีคุณค่าของตนเอง
                  3.     เป็นเหตุการณ์ที่เรารู้สึกเป็นเหยื่อหรือไม่สามารถตอบโต้ได้
ตัวอย่าง ..... ของเหตุการณ์ที่อาจสร้างบาดแผลทางอารมณ์ให้เกิดแก่เราได้ เช่น
                  1.     ประสบอุบัติเหตุหรืออันตรายจนเกือบถึงแก่ชีวิต เช่น อุบัติเหตุทางรถ เครื่องบิน หรือถูกจี้ปล้น
                  2.     ความผิดหวังอย่างรุนแรง
                  3.     สูญเสียสิ่งที่รักมาก ๆ ทั้งร่างกายและทรัพย์สิน
                  4.     ยิ่งเฉพาะสูญเสียชนิดกระทันหันไม่ได้เตรียมใจมาก่อน
                  5.     การถูกทำร้ายทั้งทางกาย วาจา ใจที่รุนแรง เช่น การถูกทารุณกรรมทั้งทางกายและทางเพศการถูกกล่าวร้ายทางวาจา เป็นต้น
                  6.     การเผชิญกับภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ สงคราม หรือเหตุการณ์จลาจลต่าง ๆ
       ภาวะของผู้ที่ได้รับบาดแผลทางจิตใจจะมีได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ในช่วงแรกอาจจะเบลอ ๆ ไม่ค่อยรู้สึกตัว ทำอะไรไม่ถูกซึ่งเราเรียกว่า ภาวะช็อก ซึ่งมักจะเกิดในช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ทันทีและเกิดขึ้นไม่นาน หลังจากนั้นอาจมีภาวะแห่งความทุกข์ใจต่าง ๆ ประดังเข้ามาแล้วแต่แต่ละบุคคลว่าจะเกิดขึ้นแบบใด ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจรับไม่ได้ (Denial) โกรธและโทษตนเองหรือบุคคลที่มากระทำ หรือสถานการณ์ที่เลวร้ายนั้น
       ภาวะความเจ็บปวดที่สามารถเรียกได้ว่าบาดแผลทางอารมณ์นั้น จะเป็นภาวะที่รุนแรงมากเป็นอารามณ์ที่แรงกล้า จนอาจมีภาวะการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติร่วมด้วย เช่น รู้สึกแน่นอก น้ำตาไหล ใจสั่น หมดความอยากอาหาร นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท ฝันร้าย ระบบขับถ่ายแปรปรวนอยากจะอาเจียน คิดซ้ำซากวนเวียน ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานมาก เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ร้ายแรงอันหนึ่ง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า หรือฆ่าตัวตายได้ และความรุนแรงของบาดแผลทางอารมณ์นั้นเป็นสิ่งที่ขจัดได้ยาก บางคนอาจจะคิดถึงบ่อย ๆ นานนับปี
การช่วยเหลือเมื่อเกิดภาวะบาดแผลทางอารมณ์ก็คือ
       ประการแรก อาจจะต้องปรึกษาแพทย์ และได้รับยาร่วมด้วย ในกรณีที่เกิดภาวะความทุกข์ทางกายร่วมด้วย เช่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ซึมเศร้า ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ ยาจะช่วยให้พักผ่อนได้มากขึ้นรับประทานอาหารได้บ้างเพื่อไม่ให้อ่อนเพลียหรือขาดอาหาร ลดอาการซึมเศร้าหรือความคิดฆ่าตัวตาย ภาวะที่ต้องใช้ยาช่วยนี้มักจะเป็นในภาวะที่พึงประสบกับเหตุการณ์ใหม่ ๆ ยังมีการตอบสนองทางร่างกายในปริมาณมาก
       ประการที่สอง ในกรณีที่ไม่มีอาการตอบสนองทางกายมากมาย แต่ยังมีความทุกข์ใจอยู่ เช่น คิดถึงเรื่องนั้นบ่อย คิดถึงครั้งใดก็มีอารมณ์ คิดถึงบ่อย ๆ หรือถึงติดต่อกันเป็นเวลานานอาจจะต้องใช้วิธีการปรับความคิด และปรับจิตใจใหม่ดังนี้
            1. อภัยกับตนเอง ยอมรับว่ามันเป็นเหตุการณ์สุดวิสัย ถ้าเลือกได้เราคงไม่อยากให้มันเกิดขึ้นเพราะ จากการศึกษาเกี่ยวกับการประกอบอาชญากรรมพบว่า ส่วนใหญ่ของผู้ถูกกระทำหรือที่เรียกว่า "เหยื่อ" นั้นจะรู้สึกตำหนิตนเอง ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่สมเหตุผลอย่างยิ่ง เพราะในธรรมชาติของมนุษย์ไม่มีใครต้องการเจอกับความเจ็บปวดแน่นอน และความเจ็บปวดที่รุนแรงที่สุดก็คือความเจ็บปวดจากการกล่าวโทษตนเอง
            2. อภัยกับผู้ที่มากระทำ หรือสถานการณ์ฟังดูง่ายแต่ทำจริงอาจจะยากแต่ก็ต้องทำ เพราะเหยื่อโดย ส่วนมากเช่นกันที่ทักโทษต้นเหตุหรือผู้กระทำว่าเป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้เราเจ็บปวด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วยังมีปัจจัยประกอบอื่น ๆ อีกมากที่มีส่วน และการรู้สึกว่าต้องการให้ผู้ถูกกระทำชดใช้ให้สาสมกับความผิดก็เป็นสิ่งที่อาจทำได้หรือทำไม่ได้ในความเป็นจริง แต่ผู้ที่จะรู้สึกกับความเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลาก็คือตัวของเราเอง การให้อภัยจึงไม่ใช่เพื่อตัวผู้ที่กระทำต่อเราแต่เป็นการแสดงความปราณีต่อตนเอง ความรู้สึกแค้นใจจะทำให้เราไม่สามารถหลุดพ้นจากบ่วงทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้เลย นอกจากนี้การได้ห่างจากบุคคลหรือสถานที่ที่ทำให้เราเจ็บปวดก็จะหลุดการกระตุ้นให้นึกถึงเหตุการณ์ได้
            3. นึกถึงคุณค่าของตนเองที่มีต่อตนเอง และต่อผู้อื่น เพราะการถูกกระทำส่วนมากจะทำให้เหยื่อรู้สึก ถูก ลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของตนเอง เช่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือทางร่างกายเพราะเหยื่อจะได้รับการปฏิบัติด้วยการดูถูก หรือขัดกับความดีงามของสังคมเช่นสังคมกำหนดว่าแม่จะต้องรักและทนุถนอมลูกแต่ถ้าลูกถูกแม่ทำร้ายลูกจะรู้สึกคับข้องใจมากเพราะไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้เลยว่าการทำร้ายของแม่เป็นความรักหรือเอาใจใส่นอกจากความเกลียดชังซึ่งเมื่อคิดได้ดังนี้ก็ยิ่งรู้สึกเจ็บและไม่มีคุณค่าเพราะสังคมกำหนดว่าแม่ต้องเสนอแต่สิ่งที่ดี ๆ กับลูกเป็นต้น ดังนั้นการตั้งสติและพิจารณาถึงคุณค่าของตนเองที่เหลือจะช่วยถ่วงดุลความคิดเรื่องคุณค่าของตนเองอีกครั้ง
            4. พึงระลึกเสมอว่าถึงแม้จะเป็นบาดแผลทางอารมณ์ที่ยิ่งใหญ่ แต่อารมณ์ก็ยังคืออารมณ์ซึ่งมีธรรมชาติของมันคือ ไม่มีอารมณ์ใดที่สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดเวลาทุกนาทีตลอด 24 ชั่วโมง มันจะเกิดขึ้นมาแล้วก็หายไป ในผู้ที่ประสบบาดแผลทางอารมณ์มักกลัวว่าจะเผชิญกับภาวะทุกข์ใจนี้ไม่ได้ และมักจะคิดว่ามันจะเกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้าเราเข้าใจความจริงว่าแค่ภาวะทางอารมณ์ไม่ทำให้เราถึงตายแน่นอน การกระทำต่างหากที่ทำให้เราตายเช่นการไม่ยอมกินข้าวดื่มน้ำ อดนอนหรือฆ่าตัวตาย ดังนั้นอย่ารู้สึกกลัวความทุกข์ใจจนเกินไป อารมณ์เป็นสิ่งที่เราสามารถอดทนและยอมรับได้ และการหากิจกรรมที่เพลิดเพลินที่ทำให้ตนเองรู้สึกมีคุณค่าจะช่วยลดเวลาในการอยู่กับตนเองและคิดถึงแต่เรื่องทุกข์ได้
            5. หาคนที่เราไว้ใจและสามารถยอมรับเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเราได้ เพื่อให้เราสามารถระบายได้รับการยอมรับ การเห็นอกเห็นใจและกำลังใจ
            6. เปิดตาเปิดใจให้กว้างเราจะเห็นว่าเราไม่ใช่ผู้ที่โชคร้ายที่สุดในโลกหรือเป็นผู้ที่โชคร้ายอยู่คนเดียว ลองออกไปข้างนอกดูชีวิตผู้คนตามท้องถนน ชุมชนแออัด ชีวิตผู้คนที่ขัดสนยากไร้ จะทำให้เราได้ทบทวนตนเองใหม่ว่า เราโชคร้ายที่สุดจริง ๆ หรือ
            7. ปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนา สำ หรับผู้ที่เชื่อมั่นในศาสนา ความเชื่อมั่น ความศรัทธา และการปฏิบัติทางศาสนา ยังคงเป็นความหวังและการเยียวยาในระดับที่ลึก และเป็นสิ่งที่มนุษย์ส่วนใหญ่ใช้แก้ปัญหาทางจิตใจมาทุกยุคสมัย
       วิธีต่าง ๆ เหล่านี้อาจเป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยที่สามารถนำไปใช้เพื่อลดความเจ็บปวดจากบาดแผลทางอารมณ์ อาจมีวิธีการอื่น ๆ อีกมากมายที่แต่ละคนใช้อย่างได้ผล เพราะนอกจากความสามารถในการทำสิ่งเลวร้าย มนุษย์ก็ยังเป็นสิ่งที่มีชีวิตที่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์สิ่งดีงามเช่นกันการที่เราจะมีชีวิตที่สุขหรือทุกข์ ขึ้นอยู่กับมุมมอง การรับรู้ และการกระทำของเราเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น