วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554

ค่ายเนินวง

ค่ายเนินวง หรือค่ายรบโบราณ เป็นโบราณสถานที่อยู่ใกล้ตัวเมืองในเขต อ.เมือง จันทบุรี เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เมืองจันทร์ และเป็นแหล่งโบราณคดี ที่มีสวนผลไม้ของชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ คือ สวนสละ ที่มีชื่อเสียงของจันทบุรี ที่เรียกกันว่า "สละเนินวง" เส้นทางที่จะไปยังค่ายเนินวงอยู่ในท้องที่ ตำบลบางกะจะ อ.เมือง ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๖ กม. ไปในทิศทางเดียวกับจะไปอู่ต่อเรือพระเจ้าตาก ฯ (อู่ต่อเรือจะแยกไปซ้ายอีก ๑๐ กม.มีป้ายบอกไว้)
           ค่ายเนินวงมีประวัติดังนี้  สร้างเป็นป้อมรบ เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๗ ในแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อรับศึกญวนที่จะมาทางทะเล ซึ่งมีกรณีพิพาทเกี่ยวกับลาว เป็นกบฎแล้วไปฝักใฝ่กับญวน จนทางไทยเราไม่ไว้ใจญวน ร.๓ จึงโปรดเกล้าให้สร้างค่ายเนินวงขึ้น เพราะทรงเห็นว่ามีชัยภูมิเหมาะ ที่จะทำการตั้งรับข้าศึกที่จะมาทางน้ำ ชัยภูมิอยู่บนที่สูงเหมาะในการตั้งรับ และใช้อาวุธยิงด้วยปืนใหญ่ ภายในเมืองใหม่นี้โปรด ฯ ให้มีศาลหลักเมือง คลังเก็บอาวุธ และ วัดโยธานิมิต (วัดนี้ยังมีพระจำพรรษา) ให้เป็นวัดประจำเมือง ได้ย้ายชุมชนจากบ้านลุ่มให้มาอยู่ยังบ้านเนินวง และในชุมชนนี้ประชาชนส่วนใหญ่คือ ข้าราชการ ไม่มีราษฎรเต็มใจมาอยู่เพราะขาดแคลนน้ำ จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดให้อพยพผู้คนกลับไปอยู่ในเมืองได้ดังเดิม ให้ค่ายเนินวงร้างไป แต่ปัจจุบันมีราษฎรอยู่อาศัยกันเต็ม ไม่กันดารน้ำ เป็นแหล่งปลูกสละที่มีชื่อเสียงคือ สละเนินวง
           สิ่งที่น่าสนใจ มีป้อมและแนวกำแพง พื้นที่ภายในกำแพงเมืองมีขนาด ๒๗๐ ไร่เศษ สร้างกำแพงสูง ๖ เมตร ล้อมรอบมีป้อม คู และประตูสี่ทิศ มีปืนใหญ่จุกช่องตามกำแพงเมือง ตั้งเรียงรายไปตามช่องใบเสมา ตั้งจังก้าพร้อมทำการยิง และเป็นปืนใหญ่ที่ขนาดกว้างปากลำกล้องน่าจะเกิน ๑๕๕ มม. และในปัจจุบันได้รับการบูรณะป้อม และแนวกำแพงให้อยู่ในลักษณะที่น่าไปชม
           วัดโยธานิมิตร  สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นวัดประจำเมืองใหม่ ภายในวัดมีอุโบสถ เจดีย์ทรงลังกา มีพระประธานปางมารวิชัยประดิษฐานมาตั้งแต่เริ่มมีการสร้างวัด ส่วนอุโบสถนั้นสร้างใหม่ โดยสร้างครอบหลังเดิมเว้นแต่บานหน้าต่าง ประตูเป็นไม้ยังใช้ของเดิม แต่ส่วนอื่น ๆ นั้นถูกรื้อออกไปทำใหม่หมด
           หากกล่าวถึงค่ายเนินวง ต้องกล่าวถึงสละเนินวงด้วย เพราะมีชื่อเสียงมาก สละเนินวงมีรากเหง้ามาจากกอสละของบ้านผู้ใหญ่บ้านเนินวง ต.บางกะจะ อ.เมือง เมื่อกรมศิลปากรจะขึ้นทะเบียนค่ายเนินวงเป็นโบราณสถานและมีการเวนคืนที่ดิน ผู้ใหญ่อุทัยจึงย้ายมาปลูกลงในดินใกล้กันและบอกขายต้นพันธุ์ด้วยการผ่าตา แยกออกมาเป็นต้นพันธุ์ใหม่ ปรากฎว่าคนมาซื้อกันมากมายจนกระทั่งบัดนี้ เพราะสละที่กลายมาเป็นพันธุ์ใหม่นี้ หวาน หอม ผิดสละทั่วไป
           เมื่อชมค่ายเนินวงแล้ว ก็ต้องมาชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพาณิชย์นาวีด้วย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น นอกจากจะเป็นกษัตริย์นักรบที่แกล้วกล้า ตลอดระยะเวลา ๑๕ ปี แห่งการครองราชย์แทบจะไม่มีเวลาได้พักผ่อน เช่นเดียวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ครองราชย์เพียง ๑๕ ปีเช่นกัน รบเพื่อชิงความเป็นไทกลับคืนมา รบเพื่อขยายอาณาเขต ขยายพระราชอำนาจออกไป แต่ทั้ง ๒ พระองค์ ก็ยังมีเวลาที่จะไปทำนุบำรุงบ้านเมืองในด้านอื่น ๆ ด้วย และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้นเมื่อท่านพาทหาร ๕๐๐ คน หนีออกมาจากกรุงศรีอยุธยานั้น เพราะทรงเห็นว่าอยู่ไปก็ช่วยรักษากรุงศรีอยุธยาไม่ได้ แม้แต่จะยิงปืนใหญ่ในขณะที่ข้าศึกรุกเข้ามาก็ยังต้องขออนุญาต เมื่อไม่ขอก็ถูกคาดโทษเป็นต้น จึงคิดตีฝ่าออกไปตั้งตัวใหม่ และคงพิจารณาเห็นว่าทางด้านตะวันออกนั้น บ้านเมืองยังมีความสมบูรณ์ ถูกกระทบกระเทือนจากทัพพม่าน้อยที่สุด น่าจะรวบรวมผู้คนได้เร็วกว่า จึงตีฝ่ากองทัพพม่าที่ล้อมกรุงอยู่ออกไป มุ่งไปทางนครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง และมาตั้งทัพรวบรวมผู้คนอยู่ที่จันทบุรี เมื่อสามารถตีได้เมืองจันทบุรี แม้ว่าพม่าจะออกติดตามมาก็ถูกอุบายตีแตกกลับไปทุกครั้ง และเมื่อยึดได้เมืองจันทบุรีแล้วก็ให้ต่อเรือและยังยึดเรือสำเภามาดัดแปลงทำเรือรบ เมื่อสิ้นสุดสงครามกับพม่าแล้วตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ก็ได้นำเรือสำเภามาทำการค้าเกิดเป็นพาณิชย์นาวีขึ้นเป็นครั้งแรก และเจริญสูงสุดในด้านการพาณิชย์นาวีในสมัยรัชกาลที่ ๓ ถึงขนาดเรียกขานรัชกาลที่ ๓ ว่า "กษัตริย์เจ้าสัว"
           พิพิธภัณฑ์นี้เก็บรักษาโบราณวัตถุใต้ทะเลไว้นับเป็นจำนวนหมื่นชิ้น จัดแสดงเกี่ยวกับการค้าทางเรือ ข้อมูลเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนข้อมูลการค้นคว้าวิจัยทางโบราณคดีใต้น้ำ
           ความเป็นมา  งานโบราณคดีใต้น้ำภายในประเทศ เริ่มต้นในปี พ.ศ.๒๕๑๗ โดยกองทัพเรือให้ความร่วมมือด้วยการส่งผู้ปฎิบัติการใต้น้ำมาช่วยในการกู้สมบัติ ได้มีการค้นพบเรือโบราณจมอยู่ใต้น้ำกลางทะเลอ่าวไทยจำนวนมากถึง ๒๖ แห่ง จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๓๔ กรมศิลปากรจึงได้เปิดสำนักงานโบราณคดีใต้น้ำขึ้นที่ค่ายเนินวง ขุดค้นหาแหล่งโบราณคดีใต้น้ำทั่วประเทศ มีการฝึกอบรมจนกระทั้งสามารถเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพาณิชย์นาวีขึ้นได้ในปี พ.ศ.๒๕๓๔
           ภายในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พาณิชย์นาวี  แบ่งออกเป็น ๖ ห้องคื
               ๑. ห้องจัดแสดงสินค้าและชีวิตชาวเรือ  จัดการแสดงพาณิชย์นาวีโบราณ เส้นทางการเดินเรือท่าเรือโบราณ สร้างเรือสำเภาจำลองแต่มีขนาดเท่าของจริง (เล็กกว่าของเมืองโบราณที่สมุทรปราการ) จำลองสภาพของสินค้า ตลอดจนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ในเรือที่มิใช่เป็นเพียงพาหนะ แต่เป็นเสมือนบ้านของพวกเขา มีสินค้าที่บรรทุกเพื่อส่งออกเช่น ไม้สัก เซรามิค เป็นต้น บรรทุกไว้ให้ชม
               ๒. ห้องแนะนำปฎิบัติการโบราณคดีใต้น้ำ  แสดงเรื่องราวเทคนิคการทำงานของโบราณคดีใต้น้ำ จำลองภาพของจริงของแหล่งโบราณคดีใต้น้ำ วิธีการทำงาน ตลอดจนเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการปฎิบัติงานจริง
               ๓. ห้องคลังเก็บโบราณวัตถุ  แสดงให้เห็นถึงการเก็บรักษาโบราณวัตถุ ภายในพิพิธภัณฑ์ ปกติแล้วจะไม่มีการเปิดให้ได้เห็น แต่ที่นี่มีช่องกระจกให้มองเห็นได้
               ๔. ห้องแสดงเรือและชีวิตชาวเรือ  จัดแสดงเรื่องเรือในประเทศไทย ว่ามีเรือชนิดใดบ้าง เรือแบบใด ใช้กันอยู่ในแถบใด แสดงโดยเรือจำลองที่ทำย่อส่วนตามความจริงเพื่อให้ผู้ชมได้รู้จักเรือที่บางชนิดก็อาจจะเคยได้ยินแต่ชื่อ และส่วนตัวของผมเองก็พึ่งทราบคราวนี้ว่า เรือไทยมีถึง ๒๙ ชนิด
              ๕. ห้องของดีเมืองจันทร์  การกล่าวถึงจันทบุรีว่ามีความเป็นมาอย่างไร ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคประวัติศาตร์ที่เมืองจันทบุรี เหตุการณ์สำคัญและเรื่องของชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของจันทบุรี การก่อตั้งเมือง มรดกทางธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยวและของดีที่มีชื่อเสียงของจันทบุรี
               ๖. ห้องบุคคลสำคัญ  ในห้องนี้จะแสดงถึงพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่เกี่ยวข้องกับการทำสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ ๒ ด้วยฝีมือของทัพโจร ที่ปล้น ฆ่า เผา ทำลายกันเพื่อให้สิ้นชาติไปเลย ให้เห็นเส้นทางเดินทัพ เมื่อคราวมารวมพลที่เมืองจันทบุรี เป็นการเชิดชูพระมหาวีรกรรมของพระองค์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น