วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

อ่าวคุ้งกระเบน


อ่าวคุ้งกระเบน เป็นหาดต่อเนื่องกับหาดแหลมเสด็จ มีหาดทรายที่ขาวสะอาดตา บรรยากาศร่มรื่น พื้นที่ภายในอ่าวมีลักษณะเป็นชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารและที่เพาะพันธุ์ของบรรดาสัตว์น้ำเล็กๆ ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา  ที่อ่าวคุ้งกระเบนยังเป็นที่ตั้งของ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีหน้าที่ศึกษาค้นคว้าและวิจัย เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดจันทบุรี โครงการหนึ่งที่ศูนย์ทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษาสภาพธรรมชาติ ก่อให้เกิดความเข้าใจระบบนิเวศในป่าชายเลน และรู้จักใช้ทรัพยากรเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ
สะพานเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน ตั้งอยู่ตรงข้ามศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เวลาเพียง 30-45 นาที บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 850 เมตร จะทำให้ได้รับความรู้ และความประทับใจในธรรมชาติ มีจุดสื่อความหมายธรรมชาติอยู่ตามบริเวณต่างๆสองข้างทาง ทำให้ทราบความสำคัญของป่าชายเลนว่านอกจากจะช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่งแล้วยังทำให้เกษตรกรเลี้ยงกุ้งทะเลได้อย่างยั่งยืน เป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำ และแหล่งอาหารธรรมชาติ ตลอดจนแหล่งสมุนไพรสำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบอีกด้วย
นอกจากนี้จะเข้าใจได้ว่าไม้หลากชนิดในป่าชายเลนเกื้อกูลกันอย่างไร และมีประโยชน์กับเราอย่างไร อย่างเช่น ลำพูทะเล ที่งอกได้ดีในดินปนทราย จะเป็นผู้สะสมดินเลนทะเลเพื่อเตรียมพื้นที่ให้ไม้อื่นได้งอกงามและก่อประโยชน์เป็นทอดๆต่อกันไป ไม้แสมขาว นอกจากทำเป็นฟืนได้ หากแก่นยังนำไปต้มกับแก่น แสมสาร (ขี้เหล็กป่า) ช่วยขับโลหิตเสียของสตรีได้ กระพี้ เป็นยาแก้พิษงู ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ของ ต้นตาตุ่มทะเล ใช้รักษาโรคเรื้อนได้ดี ประสักดอกแดง ที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งลำต้น ฝักนำมาเชื่อมทานได้ เนื้อไม้แข็งใช้ทำฟืน เครื่องมือประมง หรือสร้างบ้าน และเปลือกนำมาย้อมหนังได้ ไม้โกงกาง นอกจากนำมาผลิตถ่านคุณภาพดีที่ให้ความร้อนสูงถึง 7,300 แคลอรี่ต่อกรัม คุนาน และมีขี้เถ้าน้อย ยังนำมาทำเยื่อกระดาษได้ เปลือกเมื่อนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องร่วง อาเจียน และเปลือกตำละเอียดนำมาพอกแผลสด ห้ามเลือดได้ดี ในป่าชายเลนแห่งนี้ยังมีไม้อีกหลายชนิดที่นำมาทำประโยชน์ได้อีกมหาศาล เป็นกฏของธรรมชาติที่สิ่งมีชีวิตต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันหมุนเวียนเป็น วัฏจักรเช่นนั้น ระบบนิเวศในอ่าวคุ้งกระเบนก็เช่นกัน การดำรงอยู่ของป่าชายเลน หมายถึงการดำรงอยู่ของคนจำนวนมากที่ต้องอาศัยป่าชายเลนเพื่อการมีชีวิตอยู่เช่นกัน ป่าชายเลนเป็นแหล่งเลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์น้ำนานาชนิด เมื่อสัตว์น้ำเหล่านี้โตขึ้น และว่ายไปบริเวณทะเลนอก ชาวประมงก็ได้จับไปขายและสามารถดำรงชีพด้วยการทำประมงอย่างยั่งยืน ในช่วงเวลาน้ำลดชาวบ้านในละแวกนี้จะออกมาเก็บหาหอย รวมทั้งหอยนางรมขนาดเล็กเพื่อนำไปเลี้ยงต่อจนใหญ่จึงนำไปขาย ที่นี่มีแปลงสาธิตเลี้ยงหอยนางรมแบบแขวนที่ช่วยในการบำบัดน้ำเสีย โดยจะเลี้ยงขวางคลองน้ำทิ้ง เพื่อให้หอยนางรมดักจับกินแพลงตอนที่ปะปนมากับน้ำทิ้งจากบ่อเลี้ยงกุ้ง และปล่อยน้ำดีออกมากับน้ำทิ้งจากบ่อเลี้ยงกุ้ง เป็นการช่วยบำบัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติอีกทางหนึ่ง

ในอดีตอ่าวแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ด้วยหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร ที่หลบภัย วางไข่ และที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด รวมทั้ง พะยูน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กินหญ้าทะเลเป็นอาหารก็เคยมีอยู่อย่างชุกชุม พะยูนในภาษาพื้นบ้านเรียกว่า หมูดุดหรือ ดุดบางคนเรียกว่า วัวทะเลเพราะการกินอาหารคล้ายวัวเล็มหญ้า มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า เมื่อพะยูนติดอวนที่ดักไว้ในบริเวณแนวหญ้าทะเล และมันส่งเสียงร้อง ก็จะมีคนแล่นเรือออกไปที่ลงอวน แล้วพยายามกดหัวพะยูนให้สำลักน้ำ ทำให้มันเหนื่อยจากนั้นใช้เชือกมัดตัวพะยูน ลากเข้าฝั่ง ผูกไว้กับเสา คอยดูไม่ให้พะยูนตายจนกว่าจะมีคนมารับซื้อ ปัจจุบันอ่าวคุ้งกระเบนไม่มีหมูดุดอาศัยอยู่เลย แม้หญ้าทะเลก็เสื่อมโทรมไปมาก  ยังมีความรู้ ความงดงามจากธรรมชาติอีกมากมายที่จะได้รับจากสถานที่แห่งนี้ถ้าท่านตั้งใจจะไปสัมผัสอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น