วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ อุทยานมีพื้นที่ครอบคลุมโบราณสถานในเมืองเก่าศรีเทพ ศรีเทพเป็นเมืองโบราณที่อยู่ในท้องที่อำเภอศรีเทพ เดิมมีชื่อว่า "เมืองอภัยสาลี" ถูกค้นพบเมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ และได้ทรงเรียกเมืองนี้เสียใหม่ว่า "เมืองศรีเทพ" เมื่อปี พ.ศ. 2447-2448 เมืองโบราณศรีเทพนี้มีลักษณะเป็นเมืองซ้อนเมืองขนาดใหญ่ ที่ตั้งของเมืองอยู่ในชุมทาง ที่สามารถติดต่อกับภาคอื่น ๆ ได้สะดวก ดังนั้นจึงได้รับอิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมจากอาณาจักรข้างเคียง มาผสมผสาน เช่น ศิลปะทวารวดี ศิลปะขอม เป็นต้น เมืองศรีเทพสร้างขึ้นในยุคของขอมเรืองอำนาจ ซึ่งคาดว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี โดยดูจากหลักฐานทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และวัฒนธรรมที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีความเจริญสูงสุดทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม สันนิษฐานว่าเจริญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 ถึงพุทธศตวรรษที่ 16
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้รับรางวัล Thailand Tourism Award ประจำปี 2543 2 รางวัลคือ รางวัลประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโบราณสถานยอดเยี่ยมและรางวัลสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ด้านอินเทอร์เน็ตดีเด่น
สถานที่ตั้ง
เมืองศรีเทพอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ประมาณ 107 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอวิเชียรบุรีประมาณ 25 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณสองพันไร่เศษ มีกำแพงเมืองที่ก่อด้วยดินล้อมรอบ และมีคูเมืองนอกกำแพง มีประตูเมืองทั้งสี่ทิศ ภายในเมืองมีปรางค์สมัยลพบุรีอยู่สององค์ เรียกว่า ปรางค์องค์พี่และปรางค์องค์น้อง ทางทิศเหนือนอกกำแพงเมืองออกไปมีสระน้ำสองแห่ง ชื่อสระแก้วและสระขวัญ ในสมัยก่อนเมืองศรีเทพต้องส่งส่วยน้ำจากสระทั้งสองนี้ เพื่อนำไปใช้ทำน้ำพิพัฒยสัตยาเพราะถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์
การสำรวจทางโบราณคดี
กรมศิลปากรได้ดำเนินการ สำรวจ ขุดค้น ศึกษา และพัฒนาบรรดาโบราณสถานและโบราณวัตถุในเมืองศรีเทพตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 โดยทำการการบูรณะ และบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างให้มั่นคงถาวร
ประติมากรรมศิลาที่ค้นพบที่เมืองศรีเทพ ได้นำมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ส่วนใหญ่ของประติมากรรมดังกล่าวเป็นเทวรูปในศาสนาพราหมณ์ เช่น เทวรูปพระนารายณ์ พระกฤษณะ และพระอาทิตย์ เป็นต้น สันนิษฐานว่า มีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ศิลาจารึกที่มีลักษณะคล้ายเสาหลักเมือง จารึกเป็นภาษาสันสกฤต ยังไม่ทราบความหมาย ตัวอักษรมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 10-11 ส่วนศิลาจารึกอีกสองหลักที่อ่านได้ หลักแรกกล่าวถึงพระเจ้าภววรมัน ตัวอักษรที่จารึกอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12 ส่วนอีกหลักหนึ่งจารึกเป็นอักษรขอมอายุประมาณ พุทธศตวรรคที่ 15-16 ได้กล่าวถึงชื่อบุคคลเกี่ยวกับอิทธิพลของขอม ศิลปะขอมสมัยบายนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-ประมาณ พ.ศ. 1760) เช่นรูปทวารบาลศิลา ดังได้กล่าวแล้วว่าเมืองโบราณศรีเทพเป็นเมืองสองชั้น คือมีเมืองในและเมืองนอก
เมืองในเป็นส่วนที่สำคัญของเมืองศรีเทพ เพราะประกอบไปด้วยโบราณสถานขนาดใหญ่ถึง 77 แห่ง มีช่องทางเข้าออกได้ 8 ช่องทาง และมีสระน้ำกระจายอยู่ทั่วไป รูปร่างของเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ขนาดกว้างยาวด้านละประมาณ 1600 เมตร ส่วนเมืองนอกอยู่ทางทิศตะวันออก โดยมีคูน้ำกั้นอยู่มีช่องทางเข้า - ออก อยู่ 7 ช่องทางและมีสระน้ำกระจายอยู่ทั่วไปเช่นกัน มีโบราณสถานที่พบแล้วอยู่ 57 แห่ง เมืองนอกนี้มีขนาดใหญ่กว่าเมืองใน ทั้งสองเมืองนี้มีเชิงเทินที่ก่อด้วยดินและศิลาแลงล้อมรอบ สูงประมาณ 6 เมตร ฐานกว้าง 18-27 เมตร และส่วนยอดกว้าง 5-9 เมตร นอกเชิงเทินมีคูเมืองล้อมรอบ ส่วนที่กว้างสุดประมาณ 90 เมตร มีประตูทั้งหมด 11 ประตู แต่ละประตูกว้างประมาณ 18 เมตร
จากการขุดค้นทางโบราณคดีซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ในชั้นดินระดับลึกสุด (ชั้นดินทราย) ได้พบโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ 5 โครง โครงหนึ่งเป็นเพศหญิงนอนหงาย หันศีรษะไปทางทิศเหนือ มีกำไลสำริดคล้องแขนซ้ายบริเวณข้อศอก และมีเครื่องประดับทำด้วยหินสีส้มคล้องคอ รอบโครงกระดูกมีลูกปัดกระจายอยู่โดยรอบ จึงอาจกล่าวได้ว่าเมืองศรีเทพนี้มีความเก่าแก่มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และในยุคประวัติศาสตร์ก็มีความสำคัญมาแต่โบราณกาล อาจเป็นเมืองที่ชาวอินเดียมาตั้งขึ้นแต่เดิม เพราะอยู่บนเส้นทางผ่านจาก ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังอาณาจักรฟูนันและอาณาจักรขอม ต่อมาขอมได้เข้าครอบครองจนกระทั่งขอมหมดอำนาจลง และเมืองศรีเทพได้ถูกทอดทิ้งเป็นเมืองร้างประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 18
โบราณสถานและสถานที่สำคัญ
ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ
อยู่ห่างจากประตูทางเข้าเล็กน้อยทางด้านขวามือ ศาลเจ้าพ่อศรีเทพไม่ใช่โบราณสถาน แต่เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านทั่วไป โดยทุกปีจะมีงานบวงสรวง ในราวเดือนกุมภาพันธ์ (ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3)
ปรางค์ศรีเทพ
เป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะเขมรหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ลักษณะของปรางค์สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง ฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงเป็นฐานบัวลูกฟัก แบบเดียวกับสถาปัตยกรรมเขมรทั่ว ๆ ไป เรือนธาตุก่อด้วยอิฐ ในการขุดค้นบริเวณนี้พบชิ้นส่วนทับหลังรูปลายสลักราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างเพิ่มหลังจากโบราณสถานเขาคลังใน ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 มีการพยายามจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่แต่ไม่สำเร็จ โดยได้พบชิ้นส่วนทิ้งกระจัดกระจาย
สระแก้วสระขวัญ
สระแก้วจะอยู่นอกเมืองไปทิศเหนือ ส่วนสระขวัญจะอยู่ในบริเวณเมืองส่วนนอก สระน้ำทั้งสองสระนี้มีน้ำขังตลอดปี และเชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีการนำน้ำทั้งสองสระนี้ไปทำน้ำพิพัฒน์สัตยา ตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน
โบราณสถานเขาคลังใน
เชื่อกันว่าเป็นที่เก็บอาวุธและทรัพย์สมบัติต่าง ๆ จึงเรียกว่า "เขาคลัง" การก่อสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13 ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ที่ฐานมีรูปปูนปั้นบุคคล และสัตว์ประดับเป็นศิลปะแบบทวารวดีมีลักษณะศิลปะแบบเดียวกับที่พบที่เมืองคูบัว โบราณสถานบ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ และวัดนครโกษา จังหวัดลพบุรี จะเห็นว่าเขาคลังในตั้งอยู่เกือบกลางเมือง ลักษณะทางผังเมืองจะคล้ายกับเมืองทวารวดีอื่น ๆ เช่น เมืองนครปฐมโบราณ เมืองคูบัวที่ราชบุรี และจากรายละเอียดปูนปั้นบุคคลหรือลวดลาย แบบเดียวกับที่พบที่เมืองคูคล้าย
ปรางค์สองพี่น้อง
ลักษณะเป็นปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพ มีประตูทางเข้าทางเดียวและจากการขุดแต่งทางโบราณคดี พบทับหลังที่มีจำหลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตี ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราช ซึ่งลักษณะของทับหลังและเสาประดับกรอบประตูเป็นสิ่งกำหนดอายุของปรางค์ ซึ่งอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนต่อนครวัด และได้มีการสร้างปรางค์องค์เล็กเพิ่ม โดยพบร่องรอยการสร้างทับกำแพงแก้วที่ล้อมรอบปรางค์องค์ใหญ่ ซึ่งอยู่ใต้ปรางค์องค์เล็ก และยังมีการก่อปิดทางขึ้นโดยเสริมทางด้านหน้าให้ยื่นออกมา และก่อสร้างอาคารขนาดเล็กทางทิศเหนือเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ระหว่างองค์ปรางค์ทั้งสองแห่งคือปรางค์สองพี่น้อง และปรางค์ศรีเทพจะมีกำแพงล้อมรอบ และมีอาคารปะรำพิธีขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงลักษณะการวางผัง ในรูปของศาสนสถานศิลปะเขมรแบบเดียวกับที่พบในภาคอีสานของประเทศไทย
อาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดี
จัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์และโครงกระดูกช้างที่ได้ขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ. 2531

โบราณสถานอื่นๆ
นอกจากโบราณสถานหลักแล้วยังมีโบราณสถานย่อย ๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เช่น ทิศใต้ของเขาคลังใน พบโบสถ์ก่อด้วยศิลาแลง พบใบเสมาหินบริเวณใกล้หลุมขุดค้น และพบโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสมัยทวารวดี ซึ่งได้มีการก่อสร้างทับในระยะที่รับเอาศาสนาพราหมณ์เข้ามา จึงเห็นได้ว่าบริเวณเมืองชั้นในเดิมน่าจะเป็นเมืองแบบทวารวดีและมีการสร้างสถาปัตยกรรมเขมรในระยะหลังเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ทางทิศใต้ยังพบอาคารมณฑปแบบทวารวดีขนาดใหญ่ และมีการพยายามเปลี่ยนแปลงให้เป็นเทวาลัยประมาณต้นศตวรรษที่ 18 แต่ไม่สำเร็จ เช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น